เตรียมบ้านให้พร้อมรับหน้าฝน


 จัดเตรียมบ้านให้พร้อมรับหน้าฝน

1.ตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ใกล้หลังคาบ้าน

ป้องกันความเสียหายจากกิ่งไม้ขนาดใหญ่ ที่อาจหักโค่นลงเมื่อเจอกับพายุฝนที่รุนแรง คุณควรตัดแต่งกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้กับตัวบ้าน และหลังคาบ้าน รวมทั้งกิ่งไม้ที่อยู่เหนือที่จอดรถด้วยเช่นเดียวกัน เราหมายถึงตัดนะครับ ไม่แนะนำให้โค่น


2. รางน้ำฝนอย่าให้อุดตัน
รีบเคลียร์เศษกิ่งไม้ใบไม้ที่ค้างอยู่ในรางน้ำฝนบริเวณชายคาบ้านให้เรียบร้อย หากฝนตกหนักแล้วไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน อาจทำให้น้ำฝนไหลเอ่อย้อน เข้าได้แผ่นหลังคาไปสร้างความเสียหายภายในบ้านได้มากอย่างที่คุณคาดไม่ถึง



3. ตรวจดูรางระบายน้ำ –บ่อพักน้ำก่อนอุดตัน

บ่อยครั้งที่น้ำฝนที่ไหลมาจากรางน้ำฝน ไม่อาจระบายออกสู่ภายนอกเพราะเศษใบไม้หรือขยะอาจลงไปอุดตันอยู่ในรางระบายน้ำและบ่อพักน้ำ ให้จัดการเก็บออกให้หมด ถ้าน้ำยังไหลได้ไม่ดีอีก อาจเป็นเพราะรางระบายน้ำมีความลาดชันน้อย และบ่อพักน้ำมีขนาดเล็กเกินไป


4. หลังคาแตกร้าวรั่ว

ปัญหานี้ กว่าที่เจ้าของบ้านจะรู้ตัว ก็คงต้องผ่านฝนแรกไปเรียบร้อยแล้ว เราแนะนำว่าให้สังเกตจุดที่มีคราบน้ำรั่วหยดลงบนฝ้าแล้วเปิดฝ้าขึ้นไปดู ก็จะรู้ว่ามีหลังคาแตกร้าวรั่วอยู่ตรงไหน แล้วไปแก้ไขเปลี่ยนหลังคาให้เรียบร้อย



5. วงกบประตู-หน้าต่างรั่วซึม

รอยต่อระหว่างวงกลประตูหน้าต่างเป็นจุดสำคัญที่น้ำฝนซึมเข้าสู่บ้านโดยปกติจะต้องมีซิลิโคนยาแนวไว้ แต่อาจหมดอายุ ให้ขูดซิลิโคนเก่าออกแล้วลงซิลิโคนยาแนวใหม่แทน นอกจากนี้ตามรอยร้าวบนผนังก็อาจเป็นจุดที่ฝนรั่วซึมเข้ามาภายในบ้าน ให้ใช้อะครีลิกกันรั่วซึมโป๊วลงไป

6. เฟอร์นิเจอร์โดนน้ำเสียหาย

ในจุดที่มีรอยแตกร้าวมักเป็นมุมของบ้านซึ่งมักเป็นที่วางเฟอร์นิเจอร์ เมื่อสังเกตพบรอยร้าวและการรั่วซึมให้รีบย้ายเฟอร์นิเจอร์ออกมาเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากน้ำหากเปียกน้ำ ให้รีบนำเฟอร์นิเจอร์ไปตากให้แห้งก่อนที่จะซ่อมแซม

7. พื้นบ้านลื่นจากน้ำฝน

บริเวณที่น้ำฝนกระเซ็นหรือจุดปล่อยน้ำจากรางน้ำอาจมีตะไคร่เกาะฝังแน่นที่ผิววัสดุปูพื้น ทำให้พื้นลื่น รวมทั้งมีคราบสกปรกมากกว่าปกติ ให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะกับ ลักษณะพื้นผิวล้างให้สะอาดเพื่อป้องกันการลื่นล้ม

8. สัตว์ร้ายหนีฝนเข้าบ้าน
มด แมลง หรือสัตว์มีพิษที่หนีน้ำเข้ามาในบ้านทางช่องว่างเล็ก ๆ อาจทำอันตรายผู้อยู่อาศัยได้ ให้รีบเคลียร์บ้านเก็บซอกหลืบที่รกรุงรัง เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้ายเหล่านี้

9.ไฟรั่ว ไฟช็อตที่มาพร้อมกับฝน

หมั่นสังเกตบริเวณปลั๊ก สวิตซ์ไฟหรือบริเวณที่วางเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีน้ำฝน รั่วซึมเข้ามาถึงหรือไม่ เพราะอาจเป็นจุดที่เราต้องสัมผัสอยู่เป็นประจำ ซึ่งเสี่ยงต่อการโดนไฟช็อตไฟดูดได้ ส่วนปลั๊กหรือสวิตช์ไฟนอกบ้านให้ใช้รุ่นที่มีฝาปิดกันน้ำจะปลอดภัยมากขึ้น




เตรียมตัวป้องกันไว้ก่อนน่าจะเหมาะกับสภาวะตอนนี้ เพื่อไม่ให้บ้านที่คุณรักเกิดความเสียหายในหน้าฝน




ใหม่กว่า เก่ากว่า