การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)
ความหมายของ “การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” กำหนดไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินมาตรา 4 ความว่า “การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือ มีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น”การปฏิรูปที่ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรเป็นของตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายตลอดไปตามขนาดและความจำเป็นของเกษตรกรรมนั้น ๆ พร้อมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่ปรับปรุง ก่อสร้างถนน แหล่งน้ำ สาธารณูปโภคต่าง ๆ และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 จึงเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นอกจากมุ่งหมายให้เกษตรกรมีความเท่าเทียมกันด้านสิทธิและการถือครองที่ดินแล้วยังให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกรเพื่อให้สามารถดำรงชีพในที่ดินที่ได้รับจากการปฏิรูปที่ดินได้งานหลักของ ส.ป.ก. จึงมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ
1) งานจัดที่ดิน โดยนำที่ดินของรัฐและที่ดินเอกชนมาให้เกษตรกรเช่า เช่าซื้อ
2) งานพัฒนาขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำ เท่าที่จำเป็นในเขตปฏิรูปที่ดิน
3) งานพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกร
“เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรมหรือเป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามหลักเกณฑ์และ
เงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาด้วย
คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับที่ดิน
ผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยวิธีการปฏิรูปที่ดินจะต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น กล่าวคือ
1. เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มิใช่อาชีพอื่น และต้องไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ
2. เป็นผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่เป็นเกษตรกร แต่ประสงค์จะเป็นเกษตรกรและมาขอรับการจัดที่ดินโดยจะต้องเป็นผู้ที่ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือเป็นบุตรของเกษตรกร และต้องไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและไม่มีอาชีพอื่น อันมีรายได้ประจำเพียงพอแก่การยังอาชีพอยู่แล้ว
การดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ
การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การนำที่ดินของรัฐซึ่งถูกราษฎรบุกรุกถือครองโดยไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย หรือที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้มาจัดให้เกษตรกรเข้าทำกินเป็นการถาวรและถูกต้องตามกฎหมาย หรือ การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การที่ ส.ป.ก. นำที่ดินของรัฐ ได้แก่ ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวรที่เสื่อมโทรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุ ที่กระทรวงการคลังให้ความยินยอมแล้ว ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่จำแนกออกจากเขตป่าไม้ถาวร นำมาจัดให้เกษตรกรเช่า เช่าชื้อ เข้าทำประโยชน์ หรือจัดให้โดยมีค่าชดเชย
ที่มา http://www.onep.go.th/Naturalresources/soil/sit/INDEX.HTM