โฉนดที่ดิน (น.ส.4, น.ส. 4 ก. ฯลฯ)

4. โฉนดที่ดิน (น.ส.4, น.ส. 4 ก. ฯลฯ) หมายความถึง หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้หมายความรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว

4.1 โฉนดที่ดิน ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน การที่จะออกโฉนดที่ดินได้จะต้องเป็นท้องที่ที่ได้สร้างระวางแผนที่หรือระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศแล้วเท่านั้น ถ้าไม่มีจะออกโฉนดที่ดินไม่ได้ ตำแหน่งของโฉนดที่ดินแต่ละแปลงที่ออกให้สามารถหาตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินได้แน่นอน เพราะมีการยึดโยงกับระวางได้ ซึ่งระวางดังกล่าวสร้างจากศูนย์กำเนิด ปัจจุบันศูนย์กำเนิดของระวางที่ใช้อยู่มี 29 ศูนย์ เช่น ที่กรุงเทพมหานครใช้ศูนย์กำเนิดที่ภูเขาทอง ที่จังหวัดนครปฐม ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นศูนย์กำเนิด ที่เชียงใหม่ใช้ยอดเจดีย์ของวัดกู่เต้า เป็นต้น แต่ปัจจุบันกรมที่ดินได้นำระวางแผนที่ระบบพิกัดจาก U.T.M. ซึ่งหาตำแหน่งโดยระบบสากลมาใช้ และระบบศูนย์กำเนิดก็จะค่อย ๆ หมดไป

4.2 โฉนดแผนที่ ออกตามประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2445) ซึ่งโฉนดที่ดินฉบับแรกออกที่อำเภอบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันคืออำเภอบางปะอิน ต่อมาได้ออกเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) เหตุที่เรียกโฉนดแผนที่เพราะโฉนดที่ออกมีแผนที่ด้วย ซึ่งแตกต่างจากโฉนดที่แบบเดิมซึ่งไม่มีแผนที่ เช่น โฉนดสวน โฉนดป่า (เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษี) วิธีการออกโฉนดแผนที่เหมือนกับการออกโฉนดที่ดินทุกประการ หรือจะกล่าวว่าโฉนดแผนที่ก็คือโฉนดที่ดินก็ไม่ผิด

4.3 โฉนดตราจอง ออกตามพระราชบัญญัติออกตราจองชั่วคราว ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2446) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2449) ออกในมณฑลพิษณุโลก คือ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุดรดิตถ์ และสุโขทัย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดทำให้โฉนดตราจองตกอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์บางส่วน ปัจจุบันไม่มีออก (เพราะ พ.ร.บ. ออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) จะออกใหม่ก็เฉพาะออกเนื่องจากการแบ่งแยกโฉนดตราจองเดิม แต่ปัจจุบันกรมที่ดินไม่ได้พิมพ์แบบพิมพ์โฉนดตราจองแล้ว จึงให้นำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินมาใช้แทนแล้วประทับตราว่า “โฉนดตราจอง”โฉนดตราจองเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน จึงจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน

4.4 ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ออกตราพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 479 ออกได้ทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดพื้นที่ เช่น โฉนดตราจอง เดิมได้มีการออกตราจองที่เป็นใบอนุญาต เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ออกเมื่อทำประโยชน์เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินจะออกตราจอง “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ให้ ปัจจุบันไม่มีออก (เพราะ พ.ร.บ. ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 ถูกยกเลิก โดย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) จะออกใหม่ก็เฉพาะออกเนื่องจากการแบ่งแยกตราจองฯ เดิม แต่ปัจจุบันกรมที่ดินไม่ได้พิมพ์แบบพิมพ์ตราจองฯ แล้ว จึงให้นำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินมาใช้แทน แล้ว ประทับตราว่า “ตราจอง” เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับโฉนดที่ดินจึงจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน





บทความที่เกี่ยวข้อง

เอกสารสิทธิที่ดิน แต่ละประเภท


01.ใบจอง (น.ส.2)

02.นังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)

03.ใบไต่สวน (น.ส.5)

04.โฉนดที่ดิน

05.เอกสารสิทธิ ภ.บ.ท. 5

06.เอกสารสิทธิ .ส.น. 5

07.เอกสารสิทธิ .ค. 3

08.เอกสารสิทธิ .ท.ก.

09.เอกสารสิทธิ ส.ป.ก

10.แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)

ใหม่กว่า เก่ากว่า