แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)

 แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งราชการประกาศให้ผู้ครอบครอง และทำประโยชน์อยู่ในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (1 ธ.ค.2497) ไปแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน

วิธีการแจ้งนั้น เจ้าของที่ดินจะไปขอแบบพิมพ์ ส.ค. 1 จากพนักงานเจ้าหน้าที่ แบบพิมพ์นั้นจะเป็นแผ่นมีรอยปรุตรงกลางมีข้อความเหมือนกันทั้งสองข้าง เมื่อได้แบบพิมพ์มาแล้วเจ้าของที่ดินจะกรอกข้อความเองเหมือนกันทั้งสองข้างแล้วนำไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่จะลงเลขรับไว้ตามหมู่ที่ ตำบล อำเภอ ที่รับแจ้งลงในทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้วตีตราประจำต่อใน ส.ค. 1 ตรงรอยปรุแล้วฉีก ส.ค. 1 ตามรอยปรุเป็น 2ฉบับ ฉบับหนึ่งเก็บไว้ที่อำเภอ อีกฉบับหนึ่งมอบให้เจ้าของที่ดินไป ส.ค. 1

แต่หลังจากนั้น ก็มีการแจ้ง ส.ค. 1 เรื่อยมา โดยรับแจ้งเนื่องจากได้รับการผ่อนผันแจ้งการครอบครองจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย การผ่อนผันแจ้งการครอบครองได้ดำเนินการมาถึงปี พ.ศ. 2515 จึงยกเลิกมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หลังจากปี พ.ศ. 2515 จึงไม่มีการผ่อนผันแจ้งการครอบครองที่ดิน เว้นแต่บางเรื่องที่ค้างพิจารณาอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ผ่อนผันได้ภายหลังจากนั้น

การแจ้ง ส.ค. 1 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด เดิมใครมีสิทธิอยู่อย่างไร เมื่อแจ้ง ส.ค. 1 แล้วก็คงมีสิทธิอยู่อย่างนั้น กล่าวคือ ถ้าเดิมใครครอบครองทำประโยชน์อยู่ในทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าช้าสาธารณะ หรือป่าสงวน เมื่อแจ้ง ส.ค. 1 แล้วก็ยังเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าช้าสาธารณะ หรือป่าสงวนอยู่เช่นเดิม หรือเดิมเป็นผู้เช่าที่ดินคนอื่นแม้จะนำที่ดินที่เช่าไปแจ้ง ส.ค. 1 ก็ยังคงเป็นผู้เช่าอยู่เช่นเดิม ผู้แจ้งจะอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นใหม่ไม่ได้ และ ส.ค.1 นั้นไม่ใช้เอกสารสิทธิ อันเป็นเอกสารราชการ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำขึ้นจึงเป็นเพียงเอกสารธรรมดา ส.ค.1 มีเพียงสิทธิครอบครอง โอนไม่ได้ (เว้นแต่โอนโดยการส่งมอบการครอบครอง) แต่ ส.ค. 1 นำไปจดทะเบียนจำนองได้ หากแต่ผู้รับจำนองจะต้องเสี่ยงภัยเอาเองในเมื่อถึงกาลบังคับจำนองอาจจะบังคับจำนองไม่ได้โดยเหตุที่กล่าวแล้ว

ภาษีที่ดิน
การลดหย่อน ยกเว้น หรือลดภาษีที่ดิน

1.     บุคคลธรรมดา  ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน และใช้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของตน เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตน หรือประกอบกสิกรรมของตน ให้ลดหย่อนจำนวนเนื้อที่ 100 ตารางวา 1 ไร่ 5 ไร่ ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการลดหย่อนไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 26 มกราคม และ กฎกระทรวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 5 มกราคม 2525 กำหนดท้องที่ชุมชนหนาแน่น มาก ปานกลาง และท้องที่ชนบท ทั้งนี้เฉพาะในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแต่จังหวัดเดียว ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นสถานการค้าหรือให้เช่าไม่ได้รับการลดหย่อน กรณีบุคคลธรรมดาหลายคนเป็นเจ้าของร่วม ได้รับลดหย่อนรวมกัน (ม. 22 และข้อ 5 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516))

2.     ผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเว้นหรือลดภาษีที่ดินเพาะปลูกตามระเบียบ มท. ส่วนที่ดินสุสานที่ได้รับประโยชน์ตอบแทนอาจยกเว้นให้ตามกฎกระทรวง(ม.23, ม.23 ทวิ)

กระบวนการหรือขั้นตอนของการภาษีที่ดิน

1.ผู้เสียภาษี (รวมทั้งหน้าที่ของเจ้าของที่ดิน)

1)    เจ้าของที่ดิน คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์     ของเอกชน (ม.6)

2)    เจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคม มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน ตามบัญชีอัตราภาษีข้างท้าย (ม.7)

3)      เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ยืนแบบแสดงรายการเป็นรายแปลง (ม.24)

4)    ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีในเดือนเมษายนของทุกปี หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้ง (ม.35)

5)      ผู้ใดไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเสียเกินรับเงินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันเสียภาษีหรือวันรับแจ้ง (ม.44)
6)      เจ้าของที่ดินหรือผู้มีหน้าที่ชี้เขตและแจ้งจำนวนที่ดินตามวันเวลาที่ทำการสำรวจ (ม. 28)

2.       การยื่นแบบ
1)    เจ้าของที่ดินยื่นแบบเป็นรายแปลง ถ้าไม่ยื่นแบบเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทราบว่ายังไม่ยื่นแบบ และแบบแสดงรายการให้ใช้ได้ทุกรอบ 4 ปี (ม.29, 48 ข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516)

2)      ถ้าเจ้าของที่ดินตาย สาบสูญ หรืออื่น ๆ ให้ผู้จัดการหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ปกครองเป็นผู้ยื่น (ม.25)

3)    นิติบุคคลให้ผู้จัดการหรือผู้แทนยื่นแบบและเจ้าของที่ดินร่วมรับผิดชอบร่วมกันในการยื่นแบบ (ม.26,27))

4)    การยื่นแบบต่อเจ้าพนักงานประเมินตาม ม.29 (ข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516)

5)    เจ้าของที่ดินยื่นแบบเป็นรายแปลงตาม ม. 24, 29 ในเดือนมกราคมของปีแรกที่ตีราคาปานกลางที่ดินตาม ม.16 และให้ใช้ได้ทุกปีในรอบ 4 ปี ยื่นแบบต่อเจ้าพนักงานประเมินตาม ม. 29 (ม.24, 30 และข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516)
ใหม่กว่า เก่ากว่า