การต่อเติมบ้านไม่ให้ผิดกฏหมาย


บ้านพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านในโครงการบ้านจัดสรร หรือบ้านที่ปลูกสร้างเอง เมื่ออยู่ไปได้สักพัก ความต้องการใช้พื้นที่มีมากขึ้น เนื่องจากมีสมาชิกเพิ่มบ้าง หรือเพื่อขยับขยายค้าขายบ้าง ส่วนใหญ่เลือกที่จะต่อเติมบ้านแทนการซื้อหลังใหม่ และอาจพูดได้ว่าการต่อเติมบ้านส่วนใหญ่ทำผิดกฎหมายแทบทั้งสิ้น
การกระทำดังต่อไปนี้ (ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11) ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร คือ

1. การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดย
ใช้วัสดุขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิมเว้น แต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ขอยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเพื่อขยายความให้ชัดเจน ดังนี้ หากโครงสร้างของอาคาร เดิม คือเสา คาน ไม้ หากโครงสร้างเหล่านี้ชำรุด เช่น ปลวกขึ้น ทำให้ไม้ผุ จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ การเปลี่ยนแปลง โดยใช้ไม้เช่นเดิม จำนวนและขนาดเท่าเดิมไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร แต่หากโครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เป็นสนิมผุกร่อน ถ้าต้องเปลี่ยนใหม่ก็ต้องขออนุญาตก่อน แม้จะใช้วัสดุอุปกรณ์ ขนาด จำนวนเท่ากันก็ตาม

2. การเปลี่ยนส่วนต่างๆ ของอาคาร 
ที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิมหรือ วัสดุชนิดอื่น ซึ่งเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดไม่เกิน ร้อยละสิบ กรณีนี้หมายถึง ส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคาร เช่น พื้น ผนัง เป็นต้น เช่น เดิมเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ อยากเปลี่ยนเป็นพื้นหินอ่อน หินแกรนิต ก็ต้องคำนวณน้ำหนักว่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกินร้อยละสิบหรือไม่ ไม่เกินก็ไม่เป็นไร แต่หากเกินก็ต้องยื่นขออนุญาต ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าคำนวณน้ำหนักด้วยตนเองไม่เป็น ก็ควรให้วิศวกรเป็นผู้คำนวณให้ เพราะหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากก็จะทำให้โครงสร้างอาคารต้องรับน้ำหนักเพิ่มมาก ขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นอันตราย

3. การเปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยาย

ซึ่ง ลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ส่วนต่างๆของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกิน ร้อยละสิบ กรณีนี้หมายถึง การเปลี่ยนแบบ เปลี่ยนสไตล์ของพื้นที่เล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้านและไม่ก่อให้เกิดน้ำหนักเพิ่มแต่ประการใด อาทิ การเปลี่ยนแบบประตู หน้าต่าง เปลี่ยนลายกระเบื้อง ฝ้า เพดาน กรณีนี้ไม่ต้องยื่นขออนุญาต หรือหากการเปลี่ยนอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่ไม่เกินร้อยละสิบของน้ำหนักเดิมก็ไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาต อย่างนี้ไม่ผิดกฎหมาย
4. การลดหรือขยายเนื้อที่ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่ง
ให้ มีเนื้อที่น้อยลงหรือมากขึ้นรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน ตัวอย่างเช่น เดิมพื้นบ้านเป็นพื้นเรียบๆ ต้องการเจาะเป็นช่องเพื่อระบายอากาศ อย่างนี้ไม่ต้องยื่นขออนุญาต

5. การลดหรือการขยายเนื้อที่ของหลังคา
ให้ มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน เช่น การทำหลังคาคลุมดาดฟ้าโดยยื่นจากเดิมออกไปโดยรวมแล้วเป็นการเพิ่มเนื้อที่ ออกไปไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่ทำให้คานและเสาเดิมต้องรับน้ำหนักเพิ่มเกินร้อยละสิบ อย่างนี้ก็ไม่ต้องยื่นขออนุญาตนอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนผนังบ้าน (ข้อ 2) หากของเดิมกำหนดไว้ให้ต้องเป็นผนังกันไฟ แต่ไปเปลี่ยนเป็นผนังธรรมดา อย่างนี้ผิด หรือ (ข้อ 3) ด้านที่เป็นผนังทึบของอาคาร ห่างจากเขตที่ดินของผู้อื่นไม่ถึงสามเมตร แต่ไปเจาะทำประตูหน้าต่าง หรือที่ระบายลมด้านนั้นก็ไม่ได้ เพราะผิดข้อบัญญัติ หรือจะทำหลังคาคลุมพื้นชั้นล่าง (ข้อ 5) แม้ว่าเนื้อที่จะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 5 ตารางเมตร แต่ถ้าหลังคานั้นทำให้ที่ดินที่เป็นที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมลดน้อยลงไปกว่า ร้อยละ 30 ก็ถือเป็นการขัดข้อบัญญัติ ทำไม่ได้ครับ. 





บทความที่่เกี่ยวข้อง

กฎหมายเกี่ยวช้องกับการสร้างบ้าน











ใหม่กว่า เก่ากว่า